เมนู

คุณธรรมมีศีลเป็นต้นของตน ธรรมทั้งหลายมีศีลเป็นต้น ที่ยังไม่เกิด ย่อม
เกิดขึ้น ที่เกิดแล้ว ย่อมถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ เมื่อคบสหายผู้เสมอกัน
ธรรมทั้งหลายที่ได้แล้ว ย่อมไม่เสื่อม เพราะทรงความเสมอกันและกัน และ
เพราะกำจัดความรังเกียจ แต่กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ ไม่ได้คบสหายผู้ประ-
เสริฐสุด และผู้เสมอกันเหล่านั้น เว้นมิจฉาชีพมีการหลอกลวงเป็นต้น
บริโภคโภชนะที่เกิดขึ้นโดยธรรมและโดยเสมอ และไม่ให้ปฏิฆานุสัยในโภชนะ
นั้นเกิดขึ้น เป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษ เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
ฉะนั้น เพราะแม้เราเที่ยวไปอย่างนี้ จึงบรรลุสมบัตินี้แล.
อนวัชชโภชิคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์

คาถาที่ 14


คาถาว่า ทิสฺวา สุวณฺณสฺส ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
พระเจ้ากรุงพาราณสี พระองค์หนึ่ง เสร็จเข้าที่บรรทมในกลางวัน
ในคิมหสมัย และในพระราชสำนักของพระองค์ นางวรรณทาสีกำลังบด
จันทร์เหลืองอยู่ ในแขนข้างหนึ่งของนาง มีกำไลทองหนึ่งวง ในแขนอีกข้าง
หนึ่ง มีกำไลทองสองวง กระทบกัน กำไลทองหนึ่งวงนอกนี้ไม่กระทบ
พระราชาทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงทรงแลดูนางทาสีบ่อย ๆ พลางทรงพระราช-
ดำริว่า ในการอยู่เป็นหมู่ย่อมมีการกระทบกัน ในการอยู่คนเดียว ย่อมไม่มี
การกระทบ เหมือนอย่างนั้นแล.
โดยสมัยนั้น พระเทวีผู้ทรงประดับประดาด้วยเครื่องอลังการพร้อม
สรรพ์ ประทับยืนถวายงานพัดอยู่ พระนางทรงดำริว่า พระราชาชะรอยจะมี

พระหทัยปฏิพัทธ์ในนางวรรณทาสี ทรงให้นางทาสีนั้นลุกออกไป ทรงปรารภ
เพื่อจะทรงบดด้วยพระองค์เอง ในพระพาหาทั้งสองข้างของพระนางมีกำไลทอง
หลายวงกระทบกันเกิดเสียงดังมาก พระราชาทรงเอือมระอายิ่งขึ้น ทั้งที่บรรทม
ด้วยปรัศว์เบื้องขวา ทรงปรารภวิปัสสนา ได้ทำให้แจ้งซึ่งพระปัจเจกโพธิญาณ.
พระเทวีทรงถือจันทน์ เสด็จเข้าเฝ้าพระราชาพระองค์นั้น ซึ่งบรรทม
เป็นสุข ด้วยความสุขอันยอดเยี่ยม ทูลว่า มหาราช หม่อมฉันจะไล้ทา
พระราชตรัสว่า ออกไป อย่าไล้ทา พระนางทูลว่า อะไร มหาราช ! พระราชา
ตรัสว่า เราไม่ใช่ราชา. อำมาตย์ทั้งหลายฟังการสนทนานั้น ของพระราชา
และพระเทวีนั้น อย่างนั้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้า พระราชาผู้อันอำมาตย์เหล่านั้น
ทูลเรียกด้วยวาทะว่า มหาราช จึงตรัสว่า แน่ะพนาย เราไม่ใช่ราชา. บทที่
เหลือเป็นเช่นกับ คำที่กล่าวแล้ว ในคาถาต้นนั้นแล. ส่วนคาถาวัณณนามี
ดังนี้ว่า
ทิสฺวา สุวณฺณสฺส ปภสฺสรานิ
กมฺมารปุตฺเตน สุนิฏฺฐิตานิ
สงฺฆฏฺฏมานานิ ทุเว ภุชสฺมึ
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

บุคคลแลดูกำไลทองสองอันงามผุด-
ผ่องที่บุตรแห่งนายช่างทองให้สำเร็จด้วยดี
แล้ว กระทบกันอยู่ในข้อมือ พึงเที่ยวไป
ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น ดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ทิสฺวา ได้แก่แลดูแล้ว. บทว่า สุวณฺณสฺส
ได้แก่ ทองคำ. บาลีที่เหลือว่า วลฺยานิ เป็นคำที่นำมาเพิ่มเข้า เพราะอรรถ
ของคำที่เหลือ มีเนื้อความอย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า ปภสฺสรานิ ได้แก่
อันแพรวพราวเป็นปกติ อธิบายว่า มีแสงรุ่งเรือง. บทที่เหลือเป็นบทมีอรรถ
ตื้นทั้งนั้น.
ส่วนโยชนาดังนี้ว่า เราแลดูกำไรทองกระทบกันอยู่ในข้อมือ จึงคิดว่า
เมื่อมีการอยู่เป็นหมู่ ย่อมมีการกระทบกัน เมื่อมีการอยู่คนเดียว หากระทบ
กันไม่ จึงปรารภวิปัสสนา ได้บรรลุแล้ว. บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
สุวัณณนาคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์

คาถาที่ 15


คาถาว่า เอวํ ทุติเยน ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
พระเจ้ากรุงพาราณสีพระองค์หนึ่ง ยังทรงพระเยาว์ มีพระประสงค์
จะทรงผนวช จึงตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า พวกท่านจงรับพระเทวีปกครอง
ราชสมบัติเถิด เราจักบวช. อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ก็
ราชสมบัติที่ไม่มีพระราชา อันพวกข้าพระองค์ไม่สามารถเพื่อจะรักษาได้
พระราชาในประเทศใกล้เคียงทั้งหลายจะมาแย่งชิงราชสมบัติไป ขอพระองค์
จงทรงรอ จนกว่าพระโอรสองค์หนึ่งทรงเกิดก่อน ดังนี้แล้ว ทูลให้พระราชา
ทรงยินยอม. พระราชาทรงมีพระทัยอ่อน จึงทรงรับ. ต่อมา พระเทวีทรง
พระครรภ์. พระราชาตรัสสั่งอำมาตย์เหล่านั้นแม้อีกว่า พระเทวีทรงครรภ์แล้ว